22 สิงหาคม 2552

แม่น้ำ...แห่งชีวิต




.........แม่น้ำโขงเปรียบเสมือนเส้นเลือดหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตและจิตวิญญาณของคนลุ่มแม่น้ำ ประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า 60 ล้านคน มีชีวิตผูกพันกับแม่น้ำโขงรวมถึงแม่น้ำสาขาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ บริเวณลุ่มน้ำโขงจึงเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ ใช้เพื่อการเกษตร การคมนาคม และอีกมากมายหลายกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้คนในถิ่นนี้ แม่น้ำโขงมีความยาวเป็นอันดับ 10 ของโลกไหลผ่าน 6 ประเทศ คือ จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ปลามากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากแม่น้ำอะเมซอนในอเมริกาใต้ และแม่น้ำแซร์ในทวีปแอฟริกา มีจำนวนพันธุ์ปลาที่สำรวจพบ 1,245 ชนิด
.........แต่แม่น้ำแห่งสายชีวิตกำลังจะเปลี่ยนไปจากเดิมเนื่องจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่มากกว่า 100 เขื่อน กั้นระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำสาขาน้อยใหญ่ โดยได้รับการสนับสนุนและผลักดันจากสถาบันหลัก คือ ธนาคารพัฒนาเอเชีย ธนาคารโลก และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งทั้ง 3 สถาบัน ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการควบคุมและจัดการแม่น้ำโขงเชิงพาณิชย์ เขื่อนที่ได้สร้างเสร็จไปแล้วมี 2 เขื่อน คือ เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมันวานสร้างเสร็จในปี 2539 และเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำต้าเฉาชานก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2546 ส่วนเขื่อนแห่งที่สามที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ คือ เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเซี่ยวหวาน เป็นเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2555 ทางด้านเขื่อนจิงหงที่ตั้งอยู่ที่เมืองจิงหงหรือเชียงรุ่งในแคว้นสิบสองปันนา ซึ่งเดิมรัฐบาลจีนจะสร้างขึ้นเพื่อขายไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทยเพราะมีระยะทางห่างจากชายแดนไทยเพียง 280 กิโลเมตร แต่เนื่องจากนโยบายของไทยขาดความชัดเจน รัฐบาลจีนจึงตัดสินใจเดินหน้าในการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองในประเทศจีน และถ้าหากต่อไปประเทศไทยยังมีความต้องการจะซื้อไฟฟ้าจากจีนจำนวน 3,000 เมกะวัตต์ตามข้อตกลง รัฐบาลจีนก็จะพัฒนาเขื่อนอื่นเพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้ไทยต่อไป ดูเหมือนว่าโครงการดังกล่าวจะมีการวางแผนอย่างสวยงาม เลิศหรูแต่แท้ที่จริงแล้วกลับกลายเป็นโครงการเชิงพาณิชย์ของประเทศที่จ้องจะตักตวงผลประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงธรรมชาติและประชาชนริมฝั่งโขง เห็นได้จากการสร้างเขื่อนดังกล่าวนี้ เมื่อปี 2543 เกิดน้ำท่วมผิดธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ ตั้งแต่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เรื่อยตลอดลำน้ำลงมาจนถึงกัมพูชาและเวียดนาม มีผู้เดือดร้อนจากน้ำท่วมครั้งดังกล่าวถึง 8 ล้านคน
........ส่วนโครงการที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อแม่น้ำโขงก็คือ การก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ 8 แห่ง กั้นแม่น้ำโขงตอนบน ภายใต้โครงการหลานซาง - เจียง ซึ่งเป็นโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในมณฑลยูนนาน ของประเทศจีน โดยที่ไม่ได้สนใจเสียงทักท้วงและความวิตกกังวลของประเทศที่อยู่ปลายน้ำคือไทย ลาว เวียดนาม พม่าและกัมพูชา ว่าจะมีผลกระทบต่อแม่น้ำโขง ระบบนิเวศและชุมชนอย่างไรบ้าง
........ถ้าหากมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงขึ้นมาจริงๆ ก็จะส่งผลกระทบมหาศาล อย่างที่เห็นได้ชัด คือ การเปิด - ปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนในประเทศจีน มีผลทำให้ปริมาณเฉลี่ยของน้ำเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในฤดูแล้งและปริมาณน้ำที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลกระทบต่อการวางไข่และอยู่อาศัยของปลา ขณะเดียวกันในฤดูฝนการเก็บน้ำของเขื่อนทำให้น้ำไม่หลากตามธรรมชาติ ระดับน้ำที่จะท่วมในบริเวณป่าที่จะท่วมถึงบริเวณตอนใต้ของประเทศลาวและกัมพูชาลดลง ส่งผลกระทบไปถึงแหล่งอาหาร แหล่งเพาะพันธุ์วางไข่ แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ นั่นก็หมายความว่าปริมาณของพันธุ์ปลาหรือสัตว์น้ำก็จะลดลงไปด้วย
ที่สำคัญส่งผลกระทบไปยังภาคของการเกษตร เนื่องจากกว่าร้อยละ 80 ของนาข้าวบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ได้อาศัยธาตุอาหารต่าง ๆ ที่มากับตะกอนในช่วงฤดูน้ำหลาก เมื่อมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำโขง ทำให้วงจรการไหลของน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ปริมาณตะกอนที่มีประโยชน์ต่อการเพาะปลูกลดน้อยลง ส่งผลไปถึงความอุดมสมบูรณ์ของดินและปริมาณผลผลิตทางการเกษตรก็จะลดลงตามไปด้วย
........ที่น่าตกใจยิ่งกว่าก็คือประเทศจีนผุดโครงการระเบิดแก่งหินในแม่น้ำโขงเพื่อที่จะให้เรือเดินสินค้าเดินเรือได้อย่างสะดวก แน่นอนว่าผลกระทบที่ตามมาต้องเกิดขึ้น เนื่องจากแก่งหินที่อยู่ตามแม่น้ำโขงนั้นมีส่วนช่วยในการอนุบาลสัตว์น้ำอีกทั้งบริเวณแก่งหินมีไกหรือสาหร่ายน้ำจืดที่เป็นอาหารของปลาเกิดอยู่ และแก่งหินยังสามารถช่วยชะลอความแรงของน้ำในช่วงน้ำหลากได้อีกด้วย เป็นที่น่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศจีนคิดจะระเบิดแก่งให้เรือสามารถเดินเรือต่อไปได้แต่ทำไมไม่คิดจะกำหนดเรือให้สามารถเดินเรือได้โดยไม่ต้องระเบิดแก่งหิน
........นอกจากนั้นประเทศจีนยังให้เงินสนับสนุนงบประมาณเป็นเงินถึง 200 ล้านหยวน หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท พร้อมทำข้อตกลงการเดินเรือในแม่น้ำโขงที่ระบุไว้ว่าไม่อนุญาตให้ทำการขุดดิน หิน ทราย วางตาข่ายจับปลา และเคลื่อนย้ายไม้ไผ่ หรือซุงลอยน้ำในบริเวณร่องน้ำ ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายทั้งทางตรงและทางอ้อมในร่องน้ำที่สามารถเดินเรือได้
........หากการระเบิดแก่งหินดังกล่าวได้ดำเนินการเสร็จ แม่น้ำโขงที่เคยเป็นที่สมบูรณ์ไปด้วยแหล่งอาหารก็จะกลายเป็นเพียงแม่น้ำที่ใช้เดินเรือเพียงอย่างเดียว ซึ่งนั่นก็หมายความว่า คนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงจะไม่มีสิทธิ์ในการทำมาหากิน ไม่มีสิทธิ์ในการหาปลา ไม่มีสิทธิ์แม้กระทั่งจับขอนไม้ที่ลอยมา ไม่มีสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้นในแม่น้ำโขงซึ่งครั้งหนึ่งก็เคยหล่อเลี้ยงชีวิตคนริมฝั่งแม่น้ำโขงตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ
.......คงเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอยู่ไม่น้อย หากประเทศใดยอมรับข้อตกลงอันแสนจะเอาเปรียบนี้ เพราะหากยอมรับข้อตกลงอันนี้ก็เหมือนกับการทำลายครัวของประเทศตนเอง ซึ่งมันไม่ได้คุ้มค่ากันเลยที่ต้องทำลายปากท้องของประเทศเพียงเพื่อที่จะให้มีการเดินเรือผ่านไปได้ และวิถีชีวิตที่มีมาแต่ในอดีตจะต้องเปลี่ยนไปจากเดิม จากที่เคยหาปลาเพื่อนำมาเป็นอาหารในครอบครัวก็จะกลายเป็นการซื้อจากตลาด ทำให้ค่าใช้จ่ายในครอบครัวเพิ่มขึ้น บางคนที่มีอาชีพหาปลาก็จะไม่มีงานทำสูญเสียรายได้ที่จะเข้ามา ใช่จะมีเพียงประเทศจีนเท่านั้นที่จ้องจะคุกคามแม่น้ำโขง ยังคงมีอีกหลายประเทศที่มีโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำสาขา ไม่ว่าจะเป็นลาวหรือเวียดนามโดยได้รับ การสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย และหนึ่งในนั้นก็มีประเทศไทยอยู่ด้วย แม้จะมีบทเรียนจากเขื่อนปากมูลและเขื่อนราศีไศล เป็นเขื่อนที่สร้างกั้นแม่น้ำมูลหรือแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงที่ได้สร้างข้อขัดแย้งต่าง ๆ อย่างกว้างขวางถึงความไม่คุ้มค่าของโครงการนี้ เมื่อต้องแลกกับระบบนิเวศของพันธุ์ปลาที่สูญเสียไป และส่งผลกระทบมหาศาลต่อธรรมชาติและชุมชน อย่างเช่นกรณีของ ยายไฮ ที่ต้องสูญเสียที่ดินทำกินซึ่งเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศ เขื่อนปากมูนได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากธนาคารโลกเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำ สร้างเสร็จเมื่อปี 2538 ส่วนเขื่อนราษีไศลได้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสร้างเสร็จในปี 2536
.......อย่าคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว ในเมื่อวิถีชีวิตของมนุษย์ทุกคนล้วนเกี่ยวกับสายน้ำจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เราทุกคนจึงควรตระหนักและให้ความสำคัญกับโครงการตัดต่อพันธุกรรมแม่น้ำโขง เพื่อให้สายน้ำที่เปรียบเสมือนสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตยังคงอยู่กับเราตราบนานเท่านาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น