26 สิงหาคม 2552

สัญญา...ลดโลกร้อน


........ปัจจุบันนี้กระแสการลดภาวะโลกร้อนหรือภาวะเรือนกระจกมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศต่างๆ เริ่มตื่นตัวต่อผลกระทบที่เกิดจากภาวะเรือนกระจกมากขึ้นทุกที นอกจากนั้นยังมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในประเทศหันมาช่วยกันลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย
........ผลกระทบที่เกิดจากการภาวะเรือนกระจกนั้นก็มีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นธารน้ำแข็งละลาย ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การอพยพถิ่นฐานของสัตว์ต่างๆ ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป และอีกหลายอย่าง สิ่งที่เกิดนี้ไม่ได้เกิดจากการเผาขยะตามบ้านเรือนหรือการขนส่งเพียงอย่างเดียว อย่างที่หลายๆคนเข้าใจ แม้ว่ามันจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โลกร้อนก็ตาม เพราะการที่โลกของเราเกิดภาวะเรือนกระจกอย่างทุกวันนี้ สาเหตุหลักนั้นเกิดจากการปล่อยก๊าซของโรงงานอุตสาหกรรม
ทำให้บรรยากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไป จึงมีการประชุมกันหลายครั้งเพื่อหาทางควบคุมหรือลดภาวะโลกร้อนจนนำไปสู่การลงนามในการประชุมที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นและเรียกข้อตกลงนี้ว่าสนธิสัญญาเกียวโต
........สนธิสัญญาเกียวโตตั้งชื่อขึ้นตามสถานที่ในการเจรจาที่เมืองเกียวโต เมืองหลวงเก่าของประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2540 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 การมีผลบังคับใช้เกิดขึ้น 90 วัน หลังจากการให้สัตยาบันของประเทศรัสเซีย ซึ่งปล่อยก๊าซ 17% ของโลก ทำให้ครบเงื่อนไขที่ว่า สนธิสัญญาฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ต่อเมื่อมีประเทศร่วมให้สัตยาบันไม่น้อยกว่า 55 ประเทศ โดยจะต้องมีประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมารวมแล้วอย่างน้อย 55% ของปริมาณที่มีอยู่ในปัจจุบัน ขณะนี้มีประเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว 169 ประเทศ
........สนธิสัญญาสารเกียวโตซึ่งเป็นที่รู้จักกันอีกอย่างว่าเป็นสนธิสัญญาเกี่ยวกับภูมิอากาศของโลก เพื่อบันทึกข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับเดียวของโลกที่มีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นมันจึงเป็นเครื่องมือหลักที่รัฐบาลทั่วโลกต้องใช้เพื่อจัดการการปล่อยก๊าซคาร์บอนอันเป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจกในประเทศของตน
........ประเทศที่ตอนนี้ได้ปล่อยก๊าชคาร์บอนมากที่สุดในโลกก็คือ พี่ใหญ่ของเอเชียหรือประเทศจีนนั่นเอง ประเทศจีนได้ปล่อยก๊าชมากที่สุดแซงหน้าสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ครองอันดับหนึ่งมาหลายสมัย โดยที่จีนได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 6,200 ล้านตัน และสหรัฐอเมริกาปล่อย 5,800 ล้านตัน
แม้ว่าจีนจะเข้าร่วมสนธิสัญญาเกียวโตแล้ว แต่ก็ยังมีท่าทีอิดออดในการลดภาวะเรือนกระจก ทั้งยังออกมาอ้างว่าตนยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา ต้องทำทุกอย่างเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและขจัดปัญหาความยากจน รวมถึงการทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนดีขึ้น ดังนั้นการที่จีนปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นจึงถือเป็นเรื่องธรรมดา
........การที่ประเทศจีนก็ได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาช่วยกันลดภาวะโลกร้อน ไม่ว่าจะโดยการถีบจักรยานแทนการใช้ขนส่งอย่างอื่นที่ทำให้เกิดมลพิษ การหันมาใช้พลังงานทดแทน การรณรงค์ให้ปลูกต้นไม้ ล้วนแต่ทำให้คนในประเทศตื่นตัวกันทั้งสิ้น แต่น่าแปลกที่ผู้นำประเทศไม่กล้ายืนยันถึงการลดการปล่อยก๊าซ หรือเป็นเพราะว่าผู้นำของจีนนั้นไม่ได้คิดที่จะช่วยในการลดภาวะเรือนกระจกอย่างจริงจังกันแน่
........การที่ประเทศจีนอ้างว่าตนเองเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ต้องทำทุกอย่างเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและขจัดปัญหาความยากจนของคนในประเทศ แล้วไม่ยอมช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างจริงจังนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ยุติธรรมกับประเทศอื่นๆ แม้แต่น้อย เพราะถึงจีนจะเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาหรือพัฒนาแล้ว แต่บทสรุปก็คือประเทศจีนปล่อยก๊าซอันเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกมากที่สุดในโลก เพราะฉะนั้นประเทศจีนก็ควรจะรับผิดชอบในสิ่งที่ตนได้กระทำลงไปด้วย ไม่ใช่นั่งรอให้ประเทศอื่นๆ ลดการปล่อยก๊าซ แต่ประเทศของตนก็ยังตะบี้ตะบันปล่อยก๊าซอันเป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจกกันต่อไป
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าประเทศจีนจะปล่อยก๊าซคาร์บอนอันเป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจกเป็นอันดับหนึ่ง อย่างน้อยประเทศจีนก็ยังมีความรับผิดชอบอยู่บ้างโดยการเข้าร่วมสนธิสัญญาเกียวโต เพื่อช่วยลดภาวะเรือนกระจก แต่ก็ยังมีอีกประเทศซึ่งเป็น “พี่เบิ้ม” ของโลกที่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ยังยืนยันเป็นกระต่ายขาเดียวว่าจะไม่เข้าร่วมสนธิสัญญานี้เด็ดขาด ซึ่งพี่เบิ้มที่ว่านี้ก็คือ ประเทศสหรัฐอเมริกานั่นเอง
.........สหรัฐอ้างว่าหากตนเข้าร่วมสนธิสัญญาเกียวโตก็เป็นการทำลายเศรษฐกิจของสหรัฐเอง และยังอ้างว่าถึงแม้ตนจะไม่ได้เข้าร่วมสนธิสัญญาครั้งนี้ แต่ประเทศสหรัฐก็ยังตื่นตัวในภาวะโลกร้อนอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ก็จะมีมาตรการในการลดภาวะโลกร้อนนี้ได้โดยที่ไม่ต้องเข้าร่วมสนธิสัญญาครั้งนี้อีกด้วย
น่าแปลกใจจริงๆ ถ้าหากสหรัฐตื่นตัวและให้ความสำคัญกับภาวะเรือนกระจกอย่างจริงจังแล้วทำไมจึงไม่ลงชื่อเข้าร่วมสนธิสัญญาเกียวโตครั้งนี้ หรือแท้ที่จริงแล้วสหรัฐก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ไม่ได้เห็นความสำคัญของภาวะโลกร้อนจริงจัง
.........แม้ว่าสนธิสัญญาเกียวโตจะมีมานานแล้ว แต่ปัญหาภาวะเรือนกระจกกลับไม่ได้ลดลงตามวัตถุประสงค์ของสนธิสัญญาฉบับนี้เลยหรือว่าทุกคนยังไม่ได้ให้ความใส่ใจกับภาวะเรือนกระจกมากพอ แต่ในทางตรงกันข้ามผลกระทบที่เกิดจากภาวะเรือนกระจกมีแต่ร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น หากระดับน้ำเพิ่มขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะตามแนวชายฝั่งทะเลมากขึ้น เกิดการสูญเสียที่ดิน เห็นได้จากการที่สหรัฐอเมริกาได้สูญเสียพื้นที่เกาะเวลสเกทในหมู่เกาะฮาวายไปแล้ว และประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีการกัดเซาะตามแนวชายฝั่งทำให้น้ำท่วมเข้าไปที่ชายมากขึ้นทุกปี ประชาชนที่เคยอาศัยอยู่ตามชายฝั่งก็ต้องอพยพออกห่างแนวชายฝั่งมากขึ้น และนั่นเป็นสัญญาณที่บอกว่าหากน้ำทะเลยังคงเพิ่มต่อไปเรื่อยๆ พื้นที่บนบกก็คงต้องลดลงไปเช่นเดียวกัน
........อย่าคิดว่าภาวะเรือนกระจกเป็นเรื่องที่ไกลตัว เพราะผลที่เกิดจากภาวะเรือนกระจกนั้นมันส่งผลกระทบต่อทุกคนในโลกไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ภาวะเรือนกระจกส่งผลให้ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อฝนไม่ตกตามฤดูกาล ประเทศไทยซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ และหากฝนไม่ตกแล้วเราจะเอาน้ำที่ไหนเพาะปลูกข้าวและพืชพันธุ์ต่างๆ ประเทศไทยก็จะขาดแคลนอาหารของประเทศ สุดท้ายก็ต้องสั่งซื้อสินค้าจากประเทศอื่นเพื่อให้คนไทยนำมาบริโภค เห็นอย่างนี้แล้วยังคิดอีกหรือไม่ว่าภาวะเรือนกระจกเป็นเรื่องที่ไกลตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น